วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ประวัติความเป็นมาของยูโด


ยูโด

ยูโด ( jūdō ) เป็นศิลปะการป้องกันตัวประเภทหนึ่งที่ถือกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น โดยศาสตราจารย์ จิโกโร คาโน ยูโดมีชื่อเต็มว่า โคโดกัน ยูโด (Kodokan Judo) เดิมเรียกว่า ยูยิตสู (Jiujitsu) ซึ่งเป็นวิชาที่สามารถต่อสู้กับคู่ต่อสู้ที่มีอาวุธด้วยมือเปล่า
ประวัติ

ยูยิตสู
ในประเทศญี่ปุ่นสมัยโบราณ ซึ่งเชื่อว่าตนเองเป็นลูกพระอาทิตย์ มีถิ่นที่อยู่บนเกาะใหญ่น้อยทั้งหลาย ราวๆ 3,000-4,000 เกาะ ประชากรส่วนใหญ่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันและไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้ ทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจ ผู้ที่ได้รับชัยชนะก็พยายามซ่องสุมเสริมสร้างกำลังพลให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ผู้ที่พ่ายแพ้ก็พยายามที่จะรวบรวมสมัครพรรคพวกที่พ่ายแพ้ขึ้นใหม่เพื่อรอจังหวะช่วงชิงอำนาจกลับคืนมา ในสมัยนั้นประเทศญี่ปุ่น มีแต่การทำสงคราม นักรบของแต่ละเมืองจะได้รับการฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ที่ใช้ในสงครามหลายชนิด เช่น การฟันดาบ การยิงธนู การใช้หอก ทวน หลาว การขี่ม้า และ ยูยิตสู ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ใช้มือเปล่าในระยะประชิดตัว ไม่สามารถที่จะใช้อาวุธได้ถนัด การต่อสู้แบบยูยิตสูมิได้มุ่งที่จะทำให้คู่ต่อสู้มีอันตรายถึงชีวิต แต่มีจุดประสงค์เพื่อให้คู่ต่อสู้ได้รับบาดเจ็บและยอมแพ้ ถ้าไม่ยอมแพ้ก็อาจทำให้พิการทุพพลภาพ โดยใช้วิธีจับมือหักข้อต่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย
นักรบญี่ปุ่นในสมัยนั้นจะต้องฝึกการต่อสู้วิชายูยิตสูทุกคน และต้องฝึกสมาธิควบคู่ไปด้วย ทุกคนจะต้องมีความตั้งใจในการฝึก มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายได้ การทำร้ายคู่ต่อสู้ ด้วย ยูยิตสูไม่คำนีงถึงความเมตตาและศีลธรรม และใช้เทคนิคคอยหาโอกาสซ้ำเติมคู่ต่อสู้ตลอดเวลา จึงทำให้อาจารย์ที่ตั้งสถานที่ฝึกอบรมวิชานี้ พยายามคิดค้นประดิษฐ์ท่าทางกลวิธีแตกต่างกันออกไปอย่างอิสระ สถานที่เปิดฝึกสอนหรือที่เรียกว่าโรงเรียนสำหรับสอนวิชายูยิตสูสมันนั้นมีประมาณ 20 แห่ง
ส่วนการต่อสู้อีกประเภทหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิชายูโดคือ ซูโม่ ซึ่งเป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งของญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยมแพร่หลาย ซูโม่เป็นการต่อสู้ของคน 2 คน ใช้มือเปล่าและกำลังกายเข้าทำการต่อสู้กันมาแต่สมัยโบราณกว่า 2,500 ปีมาแล้ว นักประวัติศาสตร์ในวิชายูยิตสูได้สนใจซูโม่มาก จากหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ที่รวบรวมโดย Imperial Command ชื่อนิฮอนโซกิ (Nihon-Sho-Ki) ในปี พ.ศ. 1263 กล่าวถึงการแข่งขันในสมัยของจักรพรรด์ซุยนิน ก่อนคริสต์ศักราช 230 ปี (พ.ศ. 313) ยืนยันว่าเป็นการเริ่มต้นของวิชาซูโม่ ซึ่งแปลว่าการต่อสู้โดยใช้กำลังเข้าประลองกัน การต่อสู้ตามหลักวิชาซูโม่ บางท่าจะตรงกับวิชายูยิตสู เช่น การใช้สะโพกเป็นกำลังบังคับขากวาดเหวี่ยงคู่ต่อสู้ให้เสียหลักล้มลงซึ่งท่านี้วิชายูยิตสูเรียกว่า ฮาราย กุชิ (Harai Goshi) เป็นการยืนยันว่าวิชาซูโม่มีความสัมพันธ์กับวิชายูยิตสู

การพัฒนาวิชายูยิตสูเป็นวิชายูโด
ในตอนปลายสมัย เซนโกกุ (Sengoku) วิชายูยิตสูได้มีการรวบรวมไว้เป็นแบบแผน ต่อมาเมื่อ ตระกูลโตกูกาวา (Tokugawa) ได้ทำการปราบปรามเจ้าผู้ครองนครตามหัวเมืองต่างๆ ให้สงบลงอย่างราบคาบและตั้งตนเป็น โชกุน ปกครองประเทศญี่ปุ่น ได้มีการปรับปรุงวิชาการรบของพวกซามูไร นอกจากวิชาการรบแล้ว ซามูไรต้องเรียนหนังสือเพื่อศึกษาวิชาการปกครอง การอบรมจิตใจให้มีศีลธรรม ยูยิตสูเป็นวิชาป้องกันตัวชนิดหนึ่งในสมัยนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงวิธีการต่อสู้จากการไร้ศีลธรรมมาเป็นการป้องกัน การต่อสู้ด้วยกำลังกาย และกำลังใจอันประกอบด้วยคุณธรรม มีจรรยามารยาทที่สุภาพเรียบร้อยขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับคำว่า ยูยิตสู ซึ่งหมายความถึง ศิลปะแห่งความสุภาพ
เมื่อมีการปรับปรุงบทบัญญัติทางศีลธรรมของนักรบให้รัดกุมนี้เอง ทำให้ช่วง 50 ปีของสมัยกาไน บันจิ และคันม่ง (Kanei Banji and Kanmon พ.ศ. 2167-2216) ได้มีผู้เชี่ยวชาญวิชายูยิตสูขึ้นมามากมาย เช่น ไทยยูซึ (Tai juisu) วายูซึ (Wajuisu) เอกิโนยูชิ (Oginaiuchi) โอกูอาชิ (Koguashi) เคนโป (Kinpo) เทนบาริ (Ten Bari) ไทโด (Taido) เป็นต้น ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ทำให้คู่ต่อสู้พ่ายแพ้โดยใช้มือเปล่า ทำให้วิชายูยิตสูเป็นที่นิยมมาตลอดสมัยโตกูกาวา
ต่อมาในสมัยเมจิ (Meji ปี พ.ศ. 2411) ญี่ปุ่นได้รับอารยธรรมตะวันตกเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้วัฒนธรรมประเพณีของญี่ปุ่นหลายอย่างกลายมาเป็นสิ่งล้าสมัยของต่างชาติ และชาวญี่ปุ่นสมัยใหม่ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2414 จึงได้ออกกฎหมายห้ามนักรบใช้ซามูไรเป็นอาวุธ ห้ามพกหรือสะพายดาบซามูไร ยูยิตสูซึ่งเป็นวิชาที่นิยมเล่นกับซามูไร จึงถูกมองว่าเป็นสิ่งล้าสมัย เพราะทารุณ ป่าเถื่อน ฉะนั้นวิชายูยิตสูจึงได้รับการปรับปรุงและแก้ไขพร้อมกันหลายอย่างในสมัยเมจิ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ศิลปะการต่อสู้นานาชนิดรวมทั้งยูยิตสูต้องซบเซาลง สถาบันที่เปิดฝึกสอนยูยิตสู ซึ่งมีอยู่แพร่หลายได้รับกระทบกระเทือนถึงกับเลิกกิจการไปเป็นอันมาก

การกำเนิดวิชายูโด
หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ปฏิวัติวัฒนธรรมในสมัยเมจิ ทำให้วิชายูยิตสูเสื่อมความนิยมลงจนหมด ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2403 ชาวญี่ปุ่นชื่อ จิโกโร คาโน (Jigoro Kano) ชาวเมืองชิโรโกะซึ่งได้อพยพครอบครัวมาอยู่ในกรุงโตเกียว เมื่อปี พ.ศ. 2414 ขณะเมื่ออายุ 18 ปี ได้เข้าทำการศึกษาที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ในสาขาปรัชญาศาสตร์ (Philosophy) จนสำเร็จการศึกษา เมื่ออายุ 23 ปี ท่านจิโกโร คาโน เป็นมีความเห็นว่าวิชายูยิตสูนอกจากจะเป็นกีฬาสำหรับร่างกายและจิตใจแล้ว ยังมีหลักปรัชญาที่ว่าด้วยหลักแห่งความเป็นจริง
เมื่อท่านจิโกโร คาโนได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิชายูยิตสูอย่างละเอียดแล้วก็พบว่าผู้ฝึกวิชายูยิตสูจนมีความชำนาญดีแล้ว จะสามารถสู้กับคนที่รูปร่างใหญ่โตได้ หรือสู้กับความที่มีอาวุธด้วยมือเปล่าได้ จากการค้นพบทำให้บังเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้า ท่านจึงได้เข้าศึกษายูยิตสูอย่างจริงจังจากอาจารย์ผู้สอนวิชายูยิตสูหลายท่านจากโรงเรียนเทนจิ ซิโย (Tenjin Shinyo) และโรงเรียนคิโต (Kito) ในปี พ.ศ. 2425 ท่านจิโกโร คาโน อายุได้ 29 ปี ได้ก่อตั้งโรงเรียนสำหรับวิชายูโดขึ้นเป็นครั้งแรกในบริเวณวัดพุทธศาสนา ชื่อวัดอิโชจิ (Eishoji) โดยตั้งชื่อสถาบันนี้ว่า โคโดกัน ยูโด โดยได้นำเอาศิลปะของการต่อสู้ด้วยการทุ่มจากสำนักเทนจิ ซิโย และการต่อสู้จากสำนักคิโตเข้ามาผสมผสานเป็นวิชายูโดและได้ปรับปรุงวิธีการยูโดให้เหมาะสม สอดคล้องกับความเปลี่ยแปลงในระบอบการปกครองและสังคมในขณะนั้น ได้สอดแทรกวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ คณิตศาสตร์ประยุกต์ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว จิตศาสตร์ และจริยศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยได้ตัดทอนยูยิตสู ซึ่งไม่เหมาะสมออก แล้วพยายามรวบรวมวิชายูยิตสูให้เป็นหมวดหมู่มีมาตรฐานเดียวกันตามความคิดของท่าน และได้ตั้งระบบใหม่เรียกว่า ยูโด (Judo)
ในยุคแรก ท่านจิโกโร คาโน ต้องต่อสู้กับบุคคลหลายๆ ฝ่ายเพื่อให้เกิดการยอมรับในวิชายูโด โดยเฉพาะจากบุคคลที่นิยมอารยธรรมตะวันตกบุคคลพวกนี้ไม่ยอมรับว่ายูโดดีกว่ายูยิตสู จนในปี พ.ศ. 2429 กรมตำรวจญี่ปุ่นได้จัดการแข่งขันระหว่างยูโดกับยูยิตสูขึ้น โดยแบ่งเป็นฝ่ายละ 15 คน ผลการแข่งขันปรากฏว่ายูโดชนะ 13 คน เสมอ 2 คน เมื่อผลปรากฏเช่นนี้ ทำให้ประชาชนเริ่มสนใจยูโดมากขึ้น ทำให้สถานที่สอนเดิมคับแคบจึงต้องมีการขยายห้องเรียน เพื่อต้อนรับผู้ที่สนใจ จนถึงปี พ.ศ. 2476 จึงได้ย้ายสถานที่ฝึกไปที่ ซูอิโดบาชิ (Suidobashi) และสถานที่นี้ในที่สุดก็เป็นศูนย์กลางของนักยูโดของโลกในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2455 ได้ก่อตั้งสหพันธ์ยูโดระหว่างประเทศขึ้น โดยมีประเทศต่างๆ ที่ร่วมก่อตั้งครั้งแรกประมาณ 20 ประเทศ และได้มีการตั้ง The Kodokun Cultural Xociety ในปี พ.ศ. 2465 ขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2499 สหพันธ์ยูโดระหว่างชาติได้จัดให้มีการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศยูโดระหว่างชาติขึ้น โดยอยู่ในการอำนวยการของสหพันธ์ยูโดระหว่างประเทศโดโดกัน และหนังสือพิมพ์อาซาอิซัมบุน

เส้นเวลาของยูโด (Judo Timeline)
พ.ศ. 2425 ศาสตราจารย์จิโกโร คาโน ก่อตั้งสถาบันโคโดกัน สำหรับใช้ฝึกอบรมวิชายูโดที่ศาลาในบริเวณวัด เออิโซ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมิถุนายน
พ.ศ. 2429 ตำรวจนครบาลแห่งโตเกียว จัดการแข่งขันระหว่างนักยูโดของโคโดกัน และนัก ยูยิตสูของสำนักต่าง ๆ จากการแข่งขัน 15 ครั้ง นักยูโดของสำนักโคโดกัน ชนะถึง 13 ครั้ง จึงทำให้ยูโดของโคโดกันได้รับการรับรองว่ามีประสิทธิภาพมากกว่ายูยิตสูของสำนักอื่น ๆ
พ.ศ. 2436 ย้ายสำนักโคโดกัน จากวัดเออิโซ ไปตั้งที่ ซิโมโทมิกาซา
พ.ศ. 2476 ย้ายจาก ซิโมโทมิกาซา ไปตั้งที่ถนนซุยโดมัดซีในกรุงโตเกียว
พ.ศ. 2485 ก่อตั้งสหพันธ์ยูโด (Judo Federation)
พ.ศ. 2499 ก่อตั้งสหพันธ์ยูโดระหว่างชาติ
จัดการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศยูโดระหว่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก
สร้างภาพยนตร์เรื่อง Master of judo

วิชายูโด
ท่านจิโกโร่ คาโน่ พบว่าวิชายูยิตสูแบบดั้งเดิมนั้นไม่สามารถที่จะฝึกอย่างเต็มกำลังได้เนื่องเพราะว่าเทคนิคอันตรายต่างๆ เช่น การจิ้มตา การเตะหว่างขา การดึงผม และอื่นๆ อาจทำให้คู่ฝึกซ้อมบาดเจ็บสาหัสจากการฝึกได้ รวมทั้งการฝึกที่เรียกว่า กาต้า (KATA: การฝึกแบบเข้าคู่โดยทั้งสองฝ่ายรู้กันและฝึกตามท่าโดยที่ไม่มีการขัดขืนกัน ) แต่เพียงอย่างเดียวก็ยังไม่ได้ประสิทธิภาพที่เพียงพอ เพราะเราจะไม่สามารถคาดหวังได้ว่าศัตรูของเราจะให้ความร่วมมือในท่าที่เราฝึกมาโดยที่ไม่มีการขัดขืน
ท่านจึงปรับปรุงการฝึกส่วนใหญ่ในโรงเรียนของท่านให้เป็นแบบ รันโดริ (RANDORI) คือการฝึกซ้อมแบบจริง โดยใช้แนวความคิดว่า นักเรียนสองคนใช้เทคนิคต่างๆที่ตนเรียนรู้เพื่อการเอาชนะอย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้นักเรียนจะคุ้นเคยกับความรู้สึกต่อต้าน ขัดขืนจากคู่ต่อสู้ การฝึกแบบนี้นักเรียนจะสามารถพัฒนา ร่างกาย จิตใจและความคล่องตัวได้ดีกว่า เพื่อทำให้การฝึกซ้อมแบบรันโดริมีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่าน จิโกโร คาโน่ จำเป็นต้องเอาเทคนิครุนแรงที่ก่อให้เกิดอันตรายบางส่วนเช่น การชก เตะ หัวโขก ในจูจิสสึออกไป การล็อกสามารถกระทำได้เพียงแค่ข้อศอก ซึ่งปลอดภัยกว่าการล็อกสันหลัง คอ ข้อมือ หรือหัวไหล่ เขาเรียกการฝึกซ้อมแบบนี้ว่า ยูโด
ยูโดในปัจจุบันเป็นกีฬาสากลประเภทบุคคล มีหลักการและวัตถุประสงค์คือ มุ่งบริหารร่างกายและจิตใจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้แรงให้น้อยที่สุด เพื่อสวัสดิภาพและประโยชน์สุขร่วมกัน การฝึกยูโดต้องมีการฝึกการต่อสู้และป้องกันตัว ก็เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกได้ออกแรง ซึ่งเป็นหนทางก่อให้เกิดสมรรถภาพทางกายตามอุดมคติของท่านจิโกโร คาโน (Jigoro kano) ผู้ให้กำเนิดกีฬาประเภทนี้ว่า "Maximum Efficiency with minimum Effort and Mutual Welfare and Benifit" คือยูโดใช้วิธีการโอนอ่อนผ่อนตาม หรือที่เรียกว่า "ทางแห่งความสุภาพ" "Gentleness or soft way" ทำให้ได้เปรียบแก่ผู้ที่มีกำลังมากกว่าเป็นวิธีการที่ทำให้คนตัวเล็กกว่าน้ำหนักน้อยกว่าและกำลังด้อยกว่า สามารถต่อสู้กับผู้ที่อยู่ในลักษณะเหนือกว่าได้ และด้วยเหตุนี้เองจึงนำเอาคำว่า ยู (Ju) ซึ่งหมายถึงการโอนอ่อนหรือให้ทางแห่งความสุภาพนำหน้าชื่อนี้

เทคนิคของวิชายูโด
เทคนิคของวิชายูโดแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้
นาเงวาซา Nagewaza เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการทุ่ม (Throwing) มีท่าทุ่มที่เป็นพื้นฐานอยู่ 12 ท่า และแย่งออกเป็นประเภทตามส่วนของร่างกายที่ใช้ทุ่มนั้นๆซึ่งได้แก่การทุ่มด้วยมือ การทุ่มด้วยสะโพก การปัดขา การทุ่มด้วยไหล่ การทุ่มด้วยสีข้างและหลัง
กาต้าเมวาซา (Katamawaza) เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการกอดรัดเพื่อให้หายใจไม่ออกและการจับยืด (Chocking and Holding) เป็นเทคนิคที่ใช้ขณะอยู่กับพื้นเบาะ (tatami) เพื่อให้คู่ต้อสู้ยอมจำนน
อาเตมิวาซา Atemiwaza เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการชกต่อย ทุบตี ถีบถอง (Striking) ส่วนต่างๆของร่างกายให้เกิดการบาดเจ็บ พิการ หรือถึงแก่ชีวิต ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวเท่านั้น และไม่เคยจัดการแข่งขัน

ระดับความสามารถของนักยูโด
ระดับความสามารถมาตรฐานของนักยูโดทั้งสองเพศ (ชาย-หญิง) ได้ถูกกำหนดขึ้นโดยมีสีของสายคาดเอวเป็นเครื่องหมาย ระดับความสามารถมาตรฐานดังกล่าวแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับใหญ่คือ
ระดับกียู (Kyu) คือระดับที่อาจเรียกว่า นักเรียน
ระดับดาน (Dan) คือระดับที่เรียกว่า ผู้นำ เป็นผู้ซึ่งมีความสามารถสูง ทั้งระดับนักเรียนและระดับผู้นำนี้ยังแบ่งออกเป็นระดับย่อยๆลงอีก โดยมีสีประจำแต่ละระดับไว้ซึ่งแต่ละประเทศกำหนดไม่เหมือนกัน
การกำหนดระดับของนักยูโดในประเทศไทยกำหนดไว้ดังนี้
รองสายดำ ชั้น 5 สาดคาดเอวสีขาว
รองสายดำ ชั้น 4 สายคาดเอวสีเขียว
รองสายดำ ชั้น 3 สาดคาดเอวสีฟ้า
รองสายดำ ชั้น 2 สายคาดเอวสีน้ำตาล
รองสายดำ ชั้น 1 สาดคาดเอวสน้ำตาลปลายดำ
สายดำ ชั้น 1 สายคาดเอวสีดำ
สายดำ ชั้น 2 สายคาดเอวสีดำ
สายดำ ชั้น 3 สายคาดเอวสีดำ
สายดำ ชั้น 4 สายคาดเอวสีดำ
สายดำ ชั้น 5 สายคาดเอวสีดำ
สายดำ ชั้น 6 สายคาดเอวสีขาวสลับแดง
สายดำ ชั้น 7 สายคาดเอวสีขาวสลับแดง
สายดำ ชั้น 8 สายคาดเอวสีขาวสลับแดง
สายดำ ชั้น 9 สายคาดเอวสีแดง
สายดำ ชั้น 10 สายคาดเอวสีแดง

สถานที่ฝึก (Dojo)
สถานที่ฝึกยูโดจะต้องเป็นสถานที่กว้างขวาง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ที่พื้นปูด้วยเบาะ (Tatami) วางอัดแน่นเป็นแผ่นเดียกัน และมีผ้าคลุมให้ดึงอีกชั้นหนึ่ง โดยปกติเบาะยูโดหรือเสื่อยูโดแต่ละผืนจะมีขนาดยาว 6 ฟุต กว้าง 3 ฟุตและหนา 4 นิ้ว เบาะที่ใช้ฝึกนี้ต้องมีความยืดหยุ่นพอดีไม่อ่อนหรือแข็งเกินไป ถ้าอ่อนเกินไปจะทำให้พื้นผิวไม่เรียบทำให้เท้าพลิกแพลงได้ง่าย และทำให้การเคลื่อนไหวลำบาก แต่ถ้าแข็งเกินไปเวลาล้มอาจทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย พื้นที่สำหรับปูเบาะยูโดที่เหมาะสมควรเป็นพื้นไม้ที่ยกสูงขึ้นโดยเฉพาะ ไม่ควรปูกับพื้นซีเมนต์หรือพื้นดินทีเดียว เพราะจะมีความยืดหยุ่นน้อยก่อให้เกิดการการบาดเจ็บได้ง่าย

เครื่องแต่งกาย (Judogi)
เครื่องแต่งกายในการฝึกยูโดต้องสวมชุดโดยเฉพาะที่เรียกว่า Judoji ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการแต่งกายของชาวญี่ปุ่นมีลักษณะดังนี้
เสื้อ คล้ายเสื้อกิโมโน ถักด้วยด้ายดิบสีขาวหนาแข็งแรงทนทาน แต่อ่อนนิ่มไม่ลื่นมือ สามารถซักได้และใช้ได้นาน ส่วนแขนและลำตัวกว้างหลวม ตัวยาวคลุมก้น แขนยาวประมาณครึ่งแขนท่อนล่างเสื้อยูโดที่ดีต้องมีลักษณะเบาบางแต่แข็งแรง การเบาบางจะช่วยให้การระบายความร้อนในร่างกายดีขึ้น ประเทศญี่ปุ่นนับว่าเป็นประเทศผู้ผลิตเสื้อยูโดที่ดีที่สุดในโลก
กางเกง มีลักษณะคล้ายกางเกงจีนเป็นผ้าดิบเช่นกัน ที่เอวมีร้อยเชือกรัดเอว กางเกงต้องหลวมพอสบายยาวประมาณครึ่งขาท่อนล่าง
สายคาดเอว เป็นผ้าเย็บซ้อนกันหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 นิ้ว ยาวให้คาดเอวได้ 2 รอบ เหลือชายไว้ผูกเงื่อนพิรอด (Reef Knot) แล้วเหลือชายข้างละ 15 เซนติเมตร สำหรับสายคาดเอวนี้เป็นเครื่องแสดงระดับความสามารถมาตรฐานของนักยูโดด้วย

มารยาทของนักยูโด
วิชายูโดเป็นวิชาแห่งความสุภาพอ่อนโยน และห้องฝึกยูโดนั้นเป็นที่รวมของผู้ที่สนใจต่อความสุภาพ นอกจากนั้นห้องฝึกยูโดยังเป็นที่สำรวมร่างกายและจิตใจ ผู้ที่เข้าไปในห้องฝึกยูโดจึงควรสำรวมกิริยาวาจาให้สุภาพและเหมาะแก่สถานที่ เช่น ไม่พูดเสียงดังเกินไป ไม่กล่าวคำหยาบคาย ไม่ตลกคะนอง ไม่สูบบุหรี่ ไม่สวมรองเท้าขึ้นไปบนเบาะยูโด เป็นต้น ระหว่างการฝึกซ้อม หรือฟังคำบรรยายจากครูอาจารย์ควรฟังด้วยความเคารพ นอกจากนั้นควรเคารพเชื่อฟังคำแนะนำของครูอาจารย์ และปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของห้องฝึกที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม กับทั้งเป็นการอบรมนิสัย มารยาทและจิตใจของตนเองด้วย

วิธีการแสดงความเคารพ
การแสดงความเคารพตามหลักการของวิชายูโดมีดังต่อไปนี้
เมื่อถึงสถานที่ฝึก ต้องแสดงความเคารพสิ่งที่ตั้งบูชาประจำสถานที่ครั้งหนึ่งก่อน
ก่อนเริ่มฝึก เมื่อขึ้นบนเบาะต้องแสดงความเคารพต่อที่บูชาอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนเริ่มฝึกซ้อมต้องแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน และหลังจากยุติการฝึกซ้อมต้องเคารพกันอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนเลิกฝึกต้องแสดงความเคารพที่บูชา
เมื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวแล้ว ก่อนจะกลับต้องแสดงความเคารพที่บูชาอีกครั้งหนึ่ง
วิธีทำความเคารพมี 2 วิธี คือ นั่งและยืน ส่วนวิธีเคลื่อนไหวในการแสดงความเคารพ เช่น ยืนแล้วจะกลับเป็นนั่ง หรือนั่งแล้วกลับยืน ตามปกติใช้ขาขวาเป็นหลักในการทรงตัว การเล่นยูโดยังมีหลักการและศิลปอื่นๆอีกมากมายอาทิ การอบอุ่นร่างกายและศิลปการล้ม การทรงตัวและการเคลื่อนไหว การทุ่ม เป็นต้น

สถานที่ซ้อมและฝึกสอนในประเทศไทย
กกท (การกีฬาประเทศไทย) รามคำแหง
สนามกีฬาเยาวชนไทยญี่ปุ่นดินแดง
สมาคมยูโดแห่งประเทศไทย
มหาวิทยาลัย รามคำแหง
มหาวิทยาลัย รังสิต
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัย ศรีปทุม
มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์
สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตกรุงเทพ
มหาวิทยาลัย กรุงเทพ
มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์

แหล่งข้อมูลอื่น

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2550

กติกายูโด


กติกายูโด
พื้นที่แข่งขัน
พื้นที่แข่งขันจะต้องมีเนื้อที่อย่างน้อย 14 x 14 เมตร และอย่างมากที่สุด 16 x 16 เมตร โดยจะปูด้วยตาตามิ หรือวัสดุอื่นที่ได้รับการรับรอง โดยทั่ว ๆ ไปจะเป็นสีเขียว
พื้นที่แข่งขันจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เส้นแบ่งเขตทั้งสองนี้จะเรียกว่าเขตอันตราย จะมีสีที่เห็นได้ชัด โดยทั่ว ๆ ไปแล้วจะเป็นสีแดง กว้างประมาณ 1 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แข่งขัน หรือจะใช้เส้นทาบติดเป็นสี่เหลี่ยมรอบบริเวณแข่งขันก็ได้
พื้นที่ภายในรวมทั้งเขตอันตรายจะเรียกว่า บริเวณแข่งขัน และมีบริเวณอย่างน้อย 9 x 9 เมตร หรืออย่างมาก 10 x 10 เมตร บริเวณนอกเขตอันตรายจะเรียกว่าบริเวณปลอดภัย และจะมีความกว้างประมาณ 3 เมตร (แต่จะต้องไม่น้อยกว่า 2.5 เมตร)
เทปเหนียวสีแดงและสีขาว กว้างประมาณ 6 เซนติเมตร และยาว 25 เซนติเมตร จะต้องติดตรงกลางบริเวณที่แข่งขันในระยะห่างกัน 4 เมตร เพื่อเป็นที่ชี้แสดงให้ผู้เข้าแข่งขันทราบในการเริ่มและจบการแข่งขัน เทปสีแดงจะอยู่ข้างขวาของกรรมการผู้ชี้ขาดบนเวที และเทปสีขาวจะอยู่ข้างซ้ายของผู้ชี้ขาดบนเวที บริเวณที่แข่งขันจะต้องอยู่บนพื้นที่ยืดหยุ่นได้หรือยกพื้น เมื่อบริเวณที่แข่งขันสองบริเวณหรือมากกว่าใช้ติดต่อกัน อนุญาตให้ใช้บริเวณปลอดภัยติดต่อกันได้ แต่ต้องมีระยะ 3 เมตรเป็นอย่างน้อย มีบริเวณว่างรอบบริเวณที่แข่งขันทั้งหมดอย่างน้อยอีก 50 เซนติเมตร
บทเพิ่มเติม (พื้นที่แข่งขัน)
ตาตามิ
จะใช้วัสดุลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 183 x 91.5 เซนติเมตร หรือเล็กกว่าเล็กน้อย สุดแท้แต่ถิ่นแคว้นของประเทศญี่ปุ่น
ปัจจุบันนี้ โดยทั่ว ๆ ไปแล้วจะมีขนาดวัดได้ 1 x 2 เมตร ทำด้วยฟางข้าวอัดแน่น หรือส่วนมากจะใช้โฟมอัดแน่นก็ได้ เบาะนี้จะต้องแน่นเมื่อเหยียบและมีคุณสมบัติไม่กระเทือนในขณะที่นักกีฬาทำอูเกมิ เบาะจะต้องหุ้มด้วยแผ่นพลาสติกสีแดงหรือสีเขียว และจะต้องไม่ลื่นหรือหยาบเกินไป ซึ่งเบาะยูโดเมื่อปูต่อกันแล้วจะต้องเรียบสนิทไม่มีร่อง แน่น และไม่เลื่อนออกจากกัน
เวทียกพื้นต้องทำด้วยไม้แข็ง ซึ่งควรจะมีความยืดหยุ่นพอสมควร วัดได้ประมาณ 18 x 18 เมตร ไม่สูงเกินจากพื้น 50 เซนติเมตร

อุปกรณ์
เก้าอี้ และธง (ผู้ตัดสินข้างเวที)
ต้องมีเก้าอี้เบา ๆ สองตัวอยู่มุมนอกของบริเวณแข่งขันบนเขตปลอดภัยทแยงมุมตรงข้ามกันมุมละหนึ่งตัว โดยที่นั่งของผู้ตัดสินข้างเวทีจะต้องไม่บังกรรมการที่จดผลการแข่งขัน และป้ายคะแนนแจ้งผลการแข่งขัน ซึ่งมีธงสีแดงและสีขาวจะใส่อยู่ในซองติดกับเก้าอี้ของผู้ตัดสินข้างเวที
ป้ายบอกคะแนน
เวทีแข่งขันแต่ละเวทีจะต้องมีป้ายบอกคะแนน 2 ป้าย ตั้งทแยงมุมตรงข้ามกัน ป้ายนี้จะไม่สูงเกิน 90 เซนติเมตร และกว้างเกิน 2 เมตร อยู่นอกบริเวณแข่งขัน ซึ่งกรรมการผู้ตัดสิน เจ้าหน้าที่ และผู้ชม ต้องเห็นได้ชัดเจน
คะแนนที่ถูกทำโทษจะเปลี่ยนเป็นคะแนนได้แต้มทันทีบนป้ายบอกคะแนน อย่างไรก็ตาม จะต้องทำป้ายที่แจ้งแสดงจำนวนที่ผู้เข้าแข่งขันถูกทำโทษด้วย และต้องมีกากบาทสีแดงและสีขาวบนป้ายบอกคะแนน ซึ่งจะบอกการตรวจครั้งที่หนึ่งและสองของแพทย์
เมื่อใช้ป้ายคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะต้องมีป้ายคะแนนที่ใช้มือเปล่าเพื่อควบคุมด้วย
นาฬิกาจับเวลา ต้องมีดังต่อไปนี้
จับเวลาแข่งขัน 1 เรือน
จับเวลาโอซาเอะโกมิ 2 เรือน
สำรอง 1 เรือน
เมื่อใช้นาฬิกาจับเวลาอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องมีนาฬิกาที่ใช้ควบคุมด้วยมือเพิ่มขึ้นด้วย
ธง (ผู้จับเวลา) จะใช้ธงดังต่อไปนี้
สีเหลือง - เวลาแข่งขันหยุด
สีฟ้า - เวลาโอซาเอะโกมิ
ไม่จำเป็นต้องใช้ธงสีเหลืองและสีฟ้า เมื่อเครื่องจับเวลาอิเล็กทรอนิกส์แสดงการแข่งขัน และเวลาโอซาเอะโกมิกำลังใช้อยู่ อย่างไรก็ตาม ต้องมีธงเหล่านี้พร้อมไว้
สัญญาณเวลา
ต้องมีระฆังหนึ่งใบหรือเครื่องมือที่ดังได้ยินเหมือนกัน เพื่อให้กรรมการผู้ตัดสินทราบว่าหมดเวลาการแข่งขันที่กำหนด
สายคาดเอวสีแดงและสีขาว
ผู้เข้าแข่งขันจะต้องคาดเอวด้วยสายสีแดงหรือสีขาวที่มีความกว้างอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ยาวพอที่จะพันรอบเอวได้หนึ่งรอบทับบนเข็มขัดวุฒิ และเมื่อคาดแล้วต้องให้เหลือปลาย 20 ถึง 30 เซนติเมตร ทั้งสองข้าง (ผู้ถูกเรียกก่อนจะคาดสีแดง)
บทเพิ่มเติม (อุปกรณ์)
ที่นั่งของผู้จัดการแข่งขัน/ผู้จดคะแนน/ผู้ควบคุมเวลา ให้อยู่ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้ ผู้จดคะแนนและผู้ควบคุมเวลาต้องหันหน้าเข้าหาผู้ตัดสิน และให้ผู้จดบันทึกการแข่งขันเห็นได้ชัด ระยะห่างของผู้ชมการแข่งขัน โดยทั่วไปแล้ว ไม่ควรให้ผู้ชมเข้าใกล้พื้นที่แข่งขันเกิน 3 เมตร
เครื่องจับเวลาและป้ายคะแนน
นาฬิกาต้องตั้งไว้ให้นายช่างที่รับผิดชอบเข้าตรวจสอบความเที่ยงตรงได้ตลอดเวลา เช่น เวลาเริ่มและเวลาแข่งขัน ป้ายคะแนนต้องเป็นป้ายที่มีขนาดตามที่สหพันธ์นานาชาติกำหนดไว้ และพร้อมที่จะใช้งานตามที่ผู้ตัดสินต้องการได้ทันที ซึ่งป้ายคะแนนและเครื่องจับเวลาต้องใช้พร้อมกันกับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เกิดขัดข้อง
ป้ายคะแนนที่ใช้ด้วยมือ
ตัวอย่าง
เมื่อผ่ายขาวได้แต้มด้วยวาซา-อาริ และก็ถูกทำโทษด้วยจูอิ ฝ่ายแดงก็จะได้รับยูโกะทันที เนื่องจากผลการกระทำของฝ่ายขาว
กากบาทแดงและขาว
พื้นด้านหลังของป้ายคะแนนควรเป็นสีเขียว และมีกากบาทสีแดงและขาวตามสีของสายที่ผู้เข้าแข่งขันคาด
เครื่องแบบยูโด (ยูโดกี)
ผู้เข้าแข่งขันจะต้องสวมเครื่องแบบยูโด (ยูโดกี) ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
ทำด้วยผ้าฝ่ายที่แข็งแรงหรือวัสดุที่คล้ายคลึงกัน และอยู่ในสภาพที่ดี (ไม่มีปริหรือขาด)
สีขาวหรือขาวหม่น
เครื่องหมายที่มีได้ คือ
เสื้อต้องยาวคลุมต้นขา และจะต้องไม่สั้นกว่ามือกำเมื่อยืดลงด้ายข้างลำตัวเต็มที่ ตัวเสื้อต้องกว้างพอที่จะดึงสองด้านให้ทับกันได้ไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตรจากซี่โครงด้านหน้า แขนเสื้อต้องยาวถึงข้อมือหรือสูงกว่าข้อมือไม่เกิน 5 เซนติเมตร เป็นอย่างน้อย และให้มีช่องว่างกว้าง 10 – 15 เซนติเมตรตลอดแขนเสื้อ (รวมทั้งผ้าพัน)
กางเกงไม่มีเครื่องหมายใด ๆ ต้องยาวคลุมขาทั้งหมด และยาวอย่างมากถึงตาตุ่ม หรือสูงขึ้นจากตาตุ่มได้ 5 เซนติเมตรเป็นอย่างน้อย และให้มีช่องว่างที่ขากางเกงได้ 10 – 15 เซนติเมตร (รวมทั้งผ้าพัน) ตลอดขากางเกง
เข็มขัดที่แข็งแรง กว้าง 4 – 5 เซนติเมตร มีสีตรงตามวุฒิของผู้เข้าแข่งขันคาดบนเสื้อระดับเอว และผูกเป็นปมสี่เหลี่ยม แน่นพอที่จะไม่ให้เสื้อหลวมเกินไป และยาวพอที่จะพันเอวได้สองรอบ โดยมีปลายสองข้างเลยออกมาข้างละ 20 ถึง 30 เซนติเมตรเมื่อผูกแล้ว
ผู้เข้าแข่งขันที่เป็นหญิงจะต้องสวมเสื้อยืดคอกลมแขนสั้นสีขาวหรือขาวหม่น ชั้นในมีความทนทานและยาวพอที่จะยัดใส่ในกางเกงได้
บทเพิ่มเติม (เครื่องแบบ)
ถ้ายูโดกีของผู้เข้าแข่งขันไม่ถูกต้องตามข้อบังคับนี้ กรรมการผู้ตัดสินต้องสั่งให้ผู้เข้าแข่งขันเปลี่ยนเป็นยูโดก็ที่ถูกต้องกับข้อบังคับ เพื่อที่จะให้แน่ใจว่าแขนเสื้อของผู้เข้าแข่งขันตลอดทั้งแขนถูกต้องตามที่ต้องการ ผู้ตัดสินจะสั่งให้ผู้เข้าแข่งขันยกแขนทั้งสองขึ้น ยึดตึงในระดับไหล่ นอกจากนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าแขนเสื้อกว้างตามที่ต้องกการหรือไม่ ผู้ตัดสินจะสั่งให้ผู้เข้าแข่งขันยืดแขนตึงทั้งสองข้างมาทางด้านหน้า และงอแขนทั้งสองขึ้นตั้งศอก 90 องศา

อนามัย
ยูโดกีจะต้องสะอาด โดยปกติแล้วจะต้องแห้งและไม่มีกลิ่นที่ไม่ดี
เล็บเท้า เล็บมือ จะต้องตัดสั้น
อนามัยส่วนตัวของผู้เข้าแข่งขันจะต้องอยู่ในเกณฑ์ดี
ผมยาวต้องผูกให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เป็นที่รำคาญแก่คู่ต่อสู้
บทเพิ่มเติม (อนามัย)
ผู้เข้าแข่งขันผู้ใดไม่ปฏิบัติตามความต้องการของกฎข้อ 3 และ 4 จะถูกตัดสิทธิ์ห้ามแข่งขัน และจะให้คู่ต่อสู้ชนะโดยคิเค็น-กาซิ ตามข้อบังคับ “ข้างมากของสาม”
ผู้ชี้ขาดและเจ้าหน้าที่
โดยปกติการแข่งขันจะดำเนินไปโดยมีผู้ชี้ขาดบนเวทีหนึ่งคน และผู้ตัดสินข้างเวทีสองคน ผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินทั้งสามจะได้รับความช่วยเหลือจากผู้บันทึกและผู้จับเวลา
บทเพิ่มเติม (เจ้าหน้าที่)
ผู้จับเวลา ผู้เขียนรายการและผู้บันทึก พร้อมทั้งผู้ช่วยฝ่ายเทคนิคต่าง ๆ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 21 ปี มีความชำนาญในการเป็นผู้ชี้ขาดแห่งชาติไม่ต่ำกว่า 3 ปี และมีความรู้เกี่ยวกับกติการการแข่งขันเป็นอย่างดี
คณะกรรมการจัดการแข่งขันต้องแน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นอย่างดีก่อนปฏิบัติหน้าที่ และจะต้องมีกรรมการจับเวลาการแข่งขันอย่างน้อย 2 คน คือ คนหนึ่งจะเป็นคนจับเวลาแข่งขันที่แท้จริง และอีกคนหนึ่งมีความชำนาญเป็นพิเศษสำหรับโอซาเอะโกมิ
ถ้าเป็นไปได้ ควรจะต้องมีบุคคลที่สามตรวจสอบการจับเวลาของทั้งสองคน เพื่อป้องกันมิให้มีการผิดพลาดหรือหลงลืมหน้าที่ของผู้จับเวลา (เวลาแข่งขันจริง) จะเริ่มทันทีที่ได้ยินคำสั่งฮายีเม่ะหรือโยซิ่ และหยุดเวลาทันทีที่ได้ยินคำสั่งมัตเต้ะ หรือโซโนมาม่ะ
ผู้จับเวลาโอซาเอะโกมิ จะเริ่มจับเวลาเมื่อได้ยินโอซาเอะโกมิ จะหยุดเวลาเมื่อได้ยินโซโนมาม่ะ และจะเริ่มจับเวลาอีกครั้งเมื่อได้ยินโยชิ่ หรือเมื่อได้ยินโทเกตะก็จะหยุดนาฬิกาแล้วแจ้งจำนวนวินาทีที่ผ่านไปให้ผู้ชี้ขาดบนเวทีทราบ หรือเมื่อหมดเวลาสำหรับโอซาเอะโกมิ (30 วินาทีเมื่อยังไม่มีการได้คะแนนมาก่อน หรือ 25 วินาทีเมื่อผู้ถูกปล้ำได้เสียวาซา-อาริ หรือเกโกกุไปแล้ว) แจ้งหมดเวลาโดยการให้สัญญาณ
ผู้จับเวลาโอซาเอะโกมิ จะยกธงสีฟ้าและหยุดนาฬิกาเมื่อได้ยินโซโน-มาม่ะ และจะเอาธงลงเมื่อได้ยิน โยชิ่
ผู้จับเวลา (เวลาแข่งขันจริง) จะยกธงสีเหลือง และหยุดเวลาเมื่อได้ยินคำสั่งมัตเต้ะ หรือโซโนมาม่ะ จะเอาธงลงพร้อมกับเริ่มเวลาเมื่อได้ยินฮายีเม่ะ หรือโยชิ่ เมื่อเวลาของการแข่งขันที่ได้กำหนดหมดลง ผู้จับเวลาจะต้องบอกผู้ชี้ขาดบนเวทีถึงความจริงในเรื่องนี้ โดยใช้เครื่องสัญญาณที่ได้ยินชัดเจน
ผู้บันทึกการแข่งขันต้องแน่ใจว่าได้เข้าใจและทราบถึงเครื่องหมาย และสัญญาณที่ใช้ในการแจ้งผลการแข่งขันเป็นอย่างดี
นอกเหนือไปจากเจ้าหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะต้องมีผู้บันทึกรายการแข่งขันทั่ว ๆ ไปอีกด้วย
ถ้าใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ วิธีการต่าง ๆ จะเป็นดังเช่นอธิบายข้างต้น แต่เพื่อความแน่นอนจะต้องมีเครื่องบันทึกโดยใช้มือเตรียมพร้อมไว้ด้วย
ผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่งคนใดไม่ขึ้นไปประจำที่บนเวทีแข่งขัน เมื่อถูกเรียกสามครั้ง โดยเว้นระยะเรียกห่างกันครั้งละหนึ่งนาที จะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ทำการแข่งขัน
ตำแหน่งและหน้าที่ของผู้ชี้ขาดบนเวที
ผู้ชี้ขาดบนเวทีโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว จะต้องอยู่ในบริเวณแข่งขัน เขาจะเป็นผู้ดำเนินการแข่งขันและอำนวยการตัดสิน เขาต้องแน่ใจว่าการตัดสินของเขาได้บันทึกอยู่อย่างถูกต้อง
บทเพิ่มเติม (ตำแหน่งและหน้าที่ของผู้ชี้ขาดบนเวที)
เมื่อผู้ชี้ขาดบนเวทีได้ประกาศความเห็นอย่างหนึ่งออกไปแล้ว จะต้องไม่ละสายตาไปจากคู่แข่งขัน
ในกรณีที่ผู้เข้าแข่งขันทั้งสองอยู่ในลักษณะเนวาซ่า และหันหน้าออกด้านนอก ผู้ชี้ขาดบนเวทีอาจออกไปอยู่ที่บริเวณปลอดภัยได้ ซึ่งก่อนจะทำการตัดสินการแข่งขัน ผู้ชี้ชาดบนเวทีและผู้ตัดสินข้างเวทีจะต้องทำความคุ้นเคยกับเสียงระฆังหรือเครื่องหมายที่แสดงว่าจบเวลาการแข่งขันบนเวทีนั้น ๆ และเมื่อขึ้นควบคุมการแข่งขันบนเวที ผู้ชี้ขาดบนเวทีและผู้ตัดสินข้างเวทีจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นเบาะแข่งขันสะอาดและอยู่ในสภาพดี ไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะ เก้าอี้ของผู้ตัดสินข้างเวทีจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง และผู้เข้าแข่งขันได้ปฏิบัติตามกติกาการแข่งขัน
ผู้ชี้ขาดต้องแน่ใจว่าไม่มีผู้ชม ผู้สนับสนุน หรือช่างภาพที่อาจรบกวนหรือทำให้ผู้เข้าแข่งขันได้รับบาดเจ็บได้
ตำแหน่งและหน้าที่ของผู้ตัดสินข้างเวที
ผู้ตัดสินข้างเวทีต้องช่วยเหลือผู้ชี้ขาดบนเวที โดยนั่งตรงข้ามซึ่งกันและกันที่มุมทั้งสองนอกบริเวณแข่งขัน ผู้ตัดสินข้างเวทีแต่ละคนต้องแสดงสัญญาณที่เหมาะสม เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกับผู้ชี้ขาดบนเวทีในด้านเทคนิค หรือการทำโทษ ซึ่งผู้ชี้ขาดบนเวทีประกาศไปแล้ว
เมื่อผู้ชี้ขาดบนเวทีแสดงความเห็นสูงกว่าความเห็นของผู้ตัดสินข้างเวทีทั้งสองคนในด้านเทคนิค หรือการทำโทษ จะต้องเปลี่ยนคำตัดสินให้ตรงกับความเห็นของผู้ตัดสินข้างเวทีที่ให้สูงกว่า และเมื่อผู้ชี้ขาดบนเวทีแสดงความเห็นต่ำกว่าความเห็นของผู้ตัดสินข้างเวทีทั้งสองคนในด้านเทคนิค หรือการทำโทษ จะต้องเปลี่ยนคำตัดสินให้ตรงกับความเห็นของผู้ตัดสินข้างเวทีที่แสดงความเห็นที่ต่ำกว่า
ในกรณีที่ผู้ตัดสินข้างเวทีคนหนึ่งแสดงความเห็นที่สูงกว่า และผู้ตัดสินข้างเวทีอีกคนหนึ่งแสดงความเห็นที่ต่ำกว่า ดังนั้น การตัดสินของผู้ชี้ขาดบนเวทีให้คงเดิม และเมื่อผู้ตัดสินข้างเวทีทั้งสองแสดงความเห็นไม่ตรงกับความเห็นของผู้ชี้ขาดบนเวที

หมวดการปล้ำ

หมวดการปล้ำ
Osae Waza การยึด 5 ท่า ประกอบด้วย
- Kesa Gatame - Kata Gatame - Kami Shiho Gatame - Yoko Shiho Gatame - Tata Shiho Gatame
Shime Waza การรัดคอ 5 ท่า ประกอบด้วย
- Juji Jime - Hadaka Jime - Okuri Eri Jime - Kataju Jime - Kataha Jime
Kansetsu Waza การหักแขน 5 ท่า ประกอบด้วย
- Ude Garami - Juji Gatame - Ude Gatame - Hara Gatame - Waki Gatame

หลักการทรงตัวและทำให้คู่ต่อสู้เสียหลัก

ทิศทางที่ทำให้คู่ต่อสู้เสียการ
1. ดันแล้วดึงให้คู่ต่อสู้เสียหลักไปทางด้านหน้า
2. ดันแล้วดึงให้คู่ต่อสู้เสียหลักไปทางด้านหน้าเฉียงหลัง
3.ดันแล้วดึงให้คู่ต่อสู้เสียหลักไปทางขวามือ
4. ดันแล้วดึงให้คู่ต่อสู้เสียหลักไปทางหลังเฉียงขวา
5. ดันแล้วดึงให้คู่ต่อสู้เสียหลักไปทางหลัง
6. ดันแล้วดึงให้คู่ต่อสู้เสียหลักไปทางหลังเฉียงซ้าย
7. ดันแล้วดึงให้คู่ต่อสู้เสียหลักไปทางด้านซ้าย
8. ดันแล้วดึงให้คู่ต่อสู้เสียหลักไปทางด้านหน้าเฉียงซ้าย


หมวดการใช้เท้า Ashi Waza
ทิศทางที่ทำให้คู่ต่อสู้เสียการทรงตัว
- Deashi Balai - Ouchi Gari - Osoto Gari - Sasai Tsuri Komi Ashi - Hiza Guruma



หมวดการใช้มือ (หัวไหล่) Ta Waza
หมวดการใช้มือ (หัวไหล่) Ta Waza ประกอบด้วย
- Ippon Seoenage - Morote Seoenage - Tai Otoshi

หมวดนอนตะแคง Yokotsutemi Waza
หมวดนอนตะแคง Yokotsutemi Waza
- Yoko Wakare - Morote Guruma

หมวดนอนหงาย
หมวดนอนหงาย
- Tomoenage - Ura nage


การฝึกทักษะการตบเบาะ 8 ท่า

1. นอนตบเบาะ
ท่าเตรียม
นอนหงายตั้งเข่า ให้เท้าวางห่างกันประมาณ 12 นิ้ว ฝ่าเท้าวางราบกับพื้น แขนทั้งสองยกชูขึ้น สายตามองที่สายคาดเอวไว้ก่อน สำหรับผู้หัดใหม่เพื่อป้องกันศีรษะกระทบพื้น
วิธีปฏิบัติ
ให้ตบเบาะโดยใช้ฝ่ามือ และลำแขนทั้งสองพร้อมกันทำมุม 45 องศา กับลำตัว ควรทำเป็น ชุด ๆละ 30 - 50ครั้ง
2. ท่าล้มนั่ง
ท่าเตรียม
นั่งเหยียดเท้าไปข้างหน้า และ ยกแขนทั้งสองขึ้น
ท่าปฏิบัติ
ให้เอนตัวไปข้างหลัง เก็บคอโดยการมองสายคาดเอวไว้ตลอดเวลา แล้วปล่อยให้ตัว กลิ้งไปตามส่วนโค้งของหลัง ในจังหวะแรกที่หลังสัมผัสพื้น ให้ฟาดแขนทั้งสองตบเบาะทันที โดยให้แขนทั้งสองทำมุม 45 องศา กับลำตัว หรือห่างจากลำตัวประมาณ 1 คืบ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดพลังในการตบ และไม่ให้เกิดอันตราย แก่ท่อนแขน ขณะกลิ้งตัว
3. นั่งบนส้นเท้าล้มหลัง
ท่าเตรียม
นั่งบนส้นเท้าเหยียดแขนไปข้างหน้า
วิธีปฏิบัติ
ย่อเข่าลงให้ก้นสัมผัสพื้นก่อน แล้วปล่อยให้กลิ้งไปตามส่วนโค้งของแผ่นหลัง เก็บคอ จังหวะแรก ที่หลังถูกพื้น ให้ตบเบาะทันที
4. ยืนล้มหลัง
ท่าเตรียม
ยืนด้วยปลายเท้า แขนเหยียดตรงไปข้างหน้า ขนานกับพื้นไม่เกร็ง
ท่าปฏิบัติ
ให้ย่อเข่าลงจนก้นสัมผัสพื้น แล้วปล่อยให้ลำตัวกลิ้งไปตามส่วนโค้งของแผ่นหลัง ในจังหวะแรกที่หลังสัมผัสพื้น ให้ตบเบาะช่วยด้วยลำแขน และฝ่ามือทันที
5. นั่งล้มข้าง ซ้าย - ขวา
ท่าเตรียม
ให้นั่งเหยียดเท้าไปข้างหน้า
ท่าปฏิบัติ
ให้ล้มตัวเอียงไปด้านซ้าย โดยให้สีข้างด้านซ้ายค่อนไปทางด้านหลังสัมผัสพื้นก่อน ในจังหวะแรกที่สีข้างด้านซ้าย สัมผัสพื้นนั้น ให้ใช้มือซ้ายช่วยตบเบาะทันที
หมายเหตุ
การล้มข้างด้านขวา ก็กระทำในทำนองเดียวกัน การฝึกควรฝึกให้ล้มด้านเดียวก่อน เมื่อทำได้แล้วจึงควรให้ล้มซ้าย ทีขวาที สลับกันเป็นชุด ๆ
6. นั่งส้นเท้าล้ม ซ้าย - ขวา
ท่าเตรียม
ให้นั่งยอง ๆ ด้วยปลายเท้า
ท่าปฏิบัติ
เมื่อต้องการฝึกล้มทางด้านขวา ให้เหยียดเท้าซ้ายออกไปข้างหน้า พร้อมทั้งเหวี่ยงไปทางขวาแล้วค่อย ๆ ย่อตัวลง ให้ก้นสัมผัสพื้น ปล่อยให้ลำตัวกลิ้งไปตามส่วนโค้งของแผ่นหลัง ซึ่งค่อนไปทางด้านซ้าย และจังหวะแรกที่หลัง สัมผัสพื้นเบาะ ให้ตบเบาะช่วยทันที
7. ยืนปัดซ้าย ล้มซ้าย - ยืนปัดขวา ล้มขวา
ท่าเตรียม
ให้ยืนแยกเท้าห่างกันประมาณเท่าช่วงไหล่ ปล่อยตัวสบาย
ท่าปฏิบัติ
เมื่อต้องการล้มซ้าย ให้ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าสั้น ๆ แล้วใช้เท้าซ้ายปัดผ่านไปทางขวา พร้อมทั้งค่อย ๆ ย่อตัวลง โดยการย่อเข่าขวาให้ก้นสัมผัสพื้น ปล่อยให้ลำตัวกลิ้งไปตามส่วนโค้งของแผ่นหลัง ซึ่งค่อนไปทางด้าานซ้าย เล็กน้อย ในจังหวะแรกที่พื้นผิวส่วนใหญ่ ของแผ่นหลังสัมผัสพื้น ให้ตบเบาะช่วยทันที
หมายเหตุ
การฝึกปัดขวาล้มขวา ก็ทำในทำนองเดียวกันแต่เปลี่ยนข้างทำเท่านั้นและอย่าลืมขณะล้มนั้น ต้องเก็บคอตลอดเวลา สายตามองที่สายคาดเอวไว้
8. ม้วนไหล่ลง ตบเบาะซ้าย - ขวา
ท่าเตรียม
ถ้าต้องกาารฝึกม้วนไหล่ด้านขวาก่อน ให้ยืนด้วยเท้าขวา นำ เท้าซ้ายตาม
ท่าปฏิบัติ
ให้ก้มตัวลงวางแขนขวา ลงระหว่างกลางเท้าซ้าย และเท้าขวาโดยให้ส่วนของแขนให้โค้ง และให้ส่วนของสันมือ สัมผัสพื้น บิดปลายมือเข้าหาตัว หันหน้าไปทางซ้ายสายตามองลอดผ่านรักแร้ข้างซ้าย เริ่มม้วนไหล่ด้วยการถีบส่ง ด้วยเท้าทั้งสองให้ลำตัวกลิ้งไปข้างหน้า เริ่มด้วยส่วนของมือ และ แขน ไหล่ และ หลัง แล้วเหยียดตัวนอน โดยให้ เท้าซ้ายงอตั้งขึ้น ฝ่าเท้ายันพื้นไว้เต็มที่
หมายเหตุ
ก่อนที่จะฝึกม้วนไหล่ตบเบาะนั้น ควรฝึกการตบเบาะด้วยเท้าก่อนโดยการนอนหงายเก็บคอ เสร็จแล้วยกลำตัวท่อน ล่างให้สูงขึ้นไปในอากาศ แล้วปิดสะโพก ให้ลำตัวด้านซ้าย หรือด้านขวา ลงสู่พื้นด้วยฝ่าเท้า สะโพก ขาท่อนล่าง และบริเวณท่อนบนสัมผัสพื้น พร้อมกัน ถ้าล้มทางด้านซ้ายให้ตั้งเข่าขวา ถ้าล้มทางด้านขวาให้ตั้งเข่าซ้าย เพื่อให้ ฝ่าเท้าช่วยในการตบเบาะ

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ประวัติยูโดในประเทศไทย


ในปี พ . ศ. 2450 ชาวญี่ปุ่นชื่อ กิโยฟูจิ (Kiyofuji) ได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยในบริษัทมิตซุบุนเซนโกซา ซึ่งเป็นบริษัทของชาวญี่ปุ่น พร้อมทั้งนำเอาวิชายูยิตสูเข้ามาเผยแพร่ให้แก่ผู้ร่วมงานได้ฝึกฝนกัน โดยมีชาวญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งชื่อนายเอนโด เป็นทันตแพทย์ที่มีความรู้ทางยูยิตสูได้เข้าร่วมเป็นผู้ฝึกสอน ทำให้ยูยิตสูเป็นที่นิยมในหมู่คนใกล้ตัวและคนไทยพอสมควร
ปี พ . ศ. 2455 หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิรงค์ สวัสดิกุล ได้ทรงศึกษาวิชายูยิตสูมาจากยุโรป เมื่อกลับมารับราชการอยู่ในกระทรวงต่างประเทศ ทรงเห็นว่ายูยิตสูมีประโยชน์ต่อสังคม จึงมีความประสงค์ให้มีการศึกษาวิชานี้ในโรงเรียนต่างๆ เช่นเดียวกับนานาประเทศ











Judo Links

Web Site ที่เกี่ยวกับยูโด
Judo Central
Judo Information เป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับยูโดที่ดีที่สุดในความคิดของผมนะครับ
Judo World
The International Judo Federation ( IJF ) เว็บไซต์ของ IJF ครับ
Kodokan Judo เว็บไซต์ของสำนัก โคโดกัน ต้นตำรับวิชายูโด
Top 10 Judo Sites
United States Judo Association สมาคมยูโดแห่งสหรัฐอเมริกา

Web Site ศิลปะป้องกันตัวอื่น ๆ
Martial Way ศิลปะป้องกันตัวหลากหลายรูปแบบมี link ไปยังเว็บไซต์ศิลปะป้องกันตัวมากมาย
Siam Fighter เว็บไซต์เกี่ยวกับศิลปะป้องกันตัวอันดับหนึ่งของไทย
สมาคมไอคิโดแห่งประเทศไทย สำหรับผู้ที่สนใจวิชาไอคิโด เว็บนี้ออกแบบได้สวยมากเลยครับ
Gracie Jiu - Jitsu " กราซี ยูยิตสู " ยูยิตสูสไตล์บราซิลสุดโหด
Thai Karate-Do สำหรับผู้ที่สนใจในวิชาคาราเต้